อำเภอทุ่งตะโก จังหวัดชุมพร

อำเภอทุ่งตะโก จังหวัดชุมพร

            ได้ปรากฏหลักฐานการสร้างเมืองนครศรีธรรมราช ว่ามีการสร้างเมืองสิบสองนักษัตรเป็นเมืองบริวารซึ่งหนึ่งในจำนวนนี้คือเมืองชุมพร ซึ่งมีศักดิ์เป็นเมืองตรีและมีเมืองขึ้นเล็ก ๆ อีก 7 เมืองด้วยกัน คือ เมืองปะทิว เมืองท่าแซะ เมืองเมลิวัน เมืองกระ (ปัจจุบัน คือ อ.กระบุรี) เมืองระนอง เมืองหลังสวน และเมืองตะโก ต่อมาในภายหลังได้รวมเอาเมืองกำเนิดนพคุณ (คือ อ.บางสะพานน้อย) เข้ามาด้วย เมืองตะโกจึงได้มีชื่อในประวัติศาสตร์ตั้งแต่บัดนั้น และได้ถูกจัดให้ เป็นหัวเมืองจัตวาชั้นเอก และที่มีความสำคัญเนื่องจากเป็นทางผ่านของกองทัพ ที่ยกมาจากเมืองหลวง ทั้งในสมัยกรุงศรีอยุธยา สมัยกรุงธนบุรี และสมัยกรุง รัตนโกสินทร์

             เมืองตะโกถูกพม่าตีแตกและเผาทำลายจนสิ้นซากพร้อม ๆ กับเมืองชุมพร จึงเป็นเมืองที่ไร้ชื่อตลอดมา จากหลักฐานที่ปรากฏ คนสุดท้ายที่รักษาเมืองตะโกคือ “หมื่นรามราชรักษา” จนถึง พ.ศ.2440 เมืองตะโก ได้ถูกลดฐานะลงมาเป็นตำบลขึ้นกับเมืองสวีตลอดมา ต่อมา พ.ศ.2518 นายประมวล กุลมาตย์ ส.ส.เมืองชุมพร ได้เสนอ เรื่องต่อกระทรวงมหาดไทย เพื่อขอยก ต.ตะโก ต.ปากตะโก และ ต.ทุ่งตะไคร ยกฐานะขึ้นเป็นกิ่งอำเภอทุ่งตะโก จึงได้ประกาศในราชกิจจนุเบกษาฉบับพิเศษ เล่มที่ 93 ตอนที่ 106 เรื่องแบ่งท้องที่อำเภอสวี จ.ชุมพร และตั้งเป็นกิ่งอำเภอทุ่งตะโก ตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน2519 ในสมัย ม.ร.ว.เสนีย์ปราโมช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และยกฐานะเป็นอำเภอเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2534

แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ

พระธาตุมุจลินทร์

        พระเจดีย์หรือพระธาตุมุจลินทร์ เป็นเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยมจัตตุรัส ขนาด ๒.๒๐X๒.๒๐ เมตร ชั้นล่างเป็นฐานเขียงรองรับฐานสิงห์ย่อมุมไม้สิบหก มีท้องไม้ลักษณะคล้ายเรือนธาตุ โดยทำเป็นประตูหลอกทั้ง ๔ ด้าน มีปูนปั้นทำเป็นรูปยักษ์เฝ้าประตูด้านละ ๒ ตน ซุ้มหน้าบันเป็นลายปูนปั้นรูป  ราหูอมจันทร์อยู่บนฐานที่ทำเลียนแบบกับเรือนธาตุรองรับบัวปากระฆังรูปสี่เหลี่ยม องค์ระฆังเป็นรูปสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบหก คอระฆังหรือบัวคอเสื้อเป็นปูนปั้นรูปบัวซ้อนกลีบ ๓ ชั้น ถัดขึ้นไปเป็นลูกแก้วรองรับบัวกลุ่มเถาซึ่งหักเหลือบัวกลุ่มเพียงชั้นเดียว  พระธาตุมุจลินทร์มีลักษณะเป็นศิลปกรรมท้องถิ่น สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีอายุประมาณ ๑๕๐ – ๒๐๐ ปีมาแล้ว ชาวบ้านในแถบนี้ยังนิยมเรียกพระธาตุมุจลินทร์ว่า “พ่อท่านในกุฎิ” เนื่องจากเชื่อกันว่า เป็นที่เก็บอัฐิของพระสงฆ์ผู้ศักดิ์สิทธิ์ แต่ไม่ทราบว่าเป็นของผู้ใด(พ่อท่านในภาษาถิ่นใต้ หมายถึง พระภิกษุผู้ทรงสมณศักดิ์)

      จากการขุดค้นทางโบราณคดีในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑ สามารถสรุปได้ว่ามีการสร้างและต่อเติมพระธาตุมุจลินทร์อย่างน้อย ๔ สมัย คือ สมัยที่หนึ่งสมัยของการสร้างเจดีย์ กำหนดอายุราวสมัยรัชกาลที่ ๓ สมัยที่สองการต่อเดิมเจดีย์ ซึ่งน่าจะห่างจากสมัยแรกไม่นานมากนัก สมัยที่สามการซ่อมแซมเจดีย์ น่าจะอยู่ในช่วงรัชกาลที่ ๖-๗ ซึ่งเป็นช่วงที่มีการนำปูนซีเมนต์มาใช้กันอย่างแพร่หลาย และสมัยที่สี่ในปีพ.ศ.๒๕๕๓ กลุ่มอนุรักษ์  พระธาตุมุจลินทร์ร่วมกับกรมศิลปากร ดำเนินการบูรณะพระธาตุมุจลินทร์ดังที่ปรากฎในปัจจุบัน

แหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ที่น่าสนใจ

สวนนายดำ

แหล่งท่องเที่ยว

อำเภอทุ่งตะโก จังหวัดชุมพร

สวนลุงนิล

แหล่งท่องเที่ยว

อำเภอทุ่งตะโก จังหวัดชุมพร

ถ้ำเขาปีบ

แหล่งท่องเที่ยว

อำเภอทุ่งตะโก จังหวัดชุมพร

น้ำตกคลองเพรา

แหล่งท่องเที่ยว

อำเภอทุ่งตะโก จังหวัดชุมพร

เกาะรางบรรทัด

แหล่งท่องเที่ยว

อำเภอทุ่งตะโก จังหวัดชุมพร

หาดอรุโณทัย

แหล่งท่องเที่ยว

อำเภอทุ่งตะโก จังหวัดชุมพร