
ประวัติ
ครูเลิศเป็นลูกศิษย์คนสำคัญ และถือได้ว่าเป็นศิษย์รุ่นสุดท้ายของหลวงพ่อฤทธิ์ วัดพลับพลาชัย ที่มีผลงานโดดเด่นมากที่สุดคนหนึ่ง สาเหตุที่เรียกท่านนำหน้าด้วยคำว่าครู ก็ด้วยสาเหตุว่าท่านเป็นอาจารย์สอนศิลปะที่มหาวิทยาลัยศิลปากร (หาข้อมูลช่วงนี้มาเติม) ท่านเกิดในปี 2437 ในตัวเมืองเพชรบุรี เมื่ออายุ 5 ขวบ ได้เข้าไปศึกษาอยู่ที่วัดคงคาราม จนอายุได้ 9 ขวบก็ย้ายไปศึกษาต่อที่วัดพลับพลาชัยในปี 2447 เพื่อศึกษาวิชาวาดเขียนกับหลวงพ่อฤทธิ์ วัดพลับพลาชัย ซึ่งในขณะนั้นมีอายุ 72 ปี แล้ว
ท่านได้ฝึกวาดเขียนจนมีความชำนาญพอตัวแล้ว ในปี 2450 ได้ช่วยงานหลวงพ่อฤทธิ์ด้วยการตัดเส้นและลงสี ขณะที่ท่านมีอายุย่างเข้า 13 ปี ในคราวที่หลวงพ่อฤทธิ์รับงานเขียนจั่วเมรุจากหลวงพ่อริด (พระพิศาลสมณกิจ) เจ้าคณะจังหวัดและเจ้าอาวาสวัดคงคาราม หลวงพ่อฤทธิ์ได้ร่างจั่วหนึ่งเป็นภาพพระรามรบกับทศกัณฐ์ พื้นเป็นลายเปลวเพลิง อีกจั่วเป็นรูปหนุมานรบมัจฉานุในสระบัว จากงานนี้เอง ครูเลิศได้มุ่งมั่นในการฝึกฝนวิชาความรู้ทางช่างควบคู่ไปกับการเรียนหนังสือตามหลักสูตร ท่านได้เขียนประวัติส่วนตัวในช่วงการเรียนงานช่างของท่านไว้ว่า
“…เบื้องต้นต้องหัดเขียนหน้าพระราม หน้านางสีดา หน้าหนุมาน หน้ายักษ์ หัดเขียนทั้งหน้าอัดหน้าเสี้ยวเขียนเฉพาะหน้าฝึกหัดเขียนจนจำได้ เมื่อเขียนได้คล้ายคลึงกับแบบครูแล้วก็ฝึกเขียนภาพทั้งตัวตลอดลายประดับภาพ ต่อไปก็หัดลงสีภาพตามเรื่องรามเกียรติ์ มีภาพแสดงท่ารบกันและท่าภาพต่าง ๆ ส่วนลายก็หัดเขียน รูปดอกบัวหลวง ซึ่งเป็นดอกไม้รูปร่างทรวดทรงสวยงาม รูปทรงดอกบัวมาประดิษฐ์เป็นรูปตาอ้อย แล้วเอาตาอ้อยเป็นรูปพุ่มเข้าบิณฑ์ รูปกระจังปฏิญาณก็เขียนอย่างรูปทรงดอกบัว รูปนกกินรีก็เอานกกินนรีมาจากกระจัง … ต่อไปก็หัดเขียนลายกนกเปลวเพลิง และหัดเขียนลายกนกก้านขด กนกกินรี เครือเถา บรรจุลงในรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่ว และรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ช่องไฟควรระวังดูให้เสมอกัน ถ้าช่องไฟไม่เสมอกันเล็กบ้างใหญ่บ้างอย่างนี้ ถึงเขียนดีก็ใช้ไม่ได้ ผู้หัดเขียนควรสังวรไว้ให้มาก การประดิษฐ์เขียนลายถือนิมิตมาจากเถาวัลย์ เขียนต้องมีต้น กอ กาบ กิ่ง ดอก ใบ เขียนลายต้องออกไปตามกิ่งก้าน จะเขียนประให้เต็มช่องไฟไม่ได้ โบราณท่านถือว่าผู้เขียนจนความคิด…” (บัวไทย, 2535: 73)
ครูเลิศมีความสามารถในงานช่างหลากหลายแขนงมาก ทั้งงานเขียน งานแกะสลัก และงานปูนปั้น ฯลฯ สามารถออกแบบสถาปัตยกรรมไทยได้ทุกแบบ โดยงานเขียนถือเป็นงานที่ท่านเชี่ยวชาญมากที่สุด ลักษณะของงานเป็นแบบเสมือนจริงตามอย่างหลวงพ่อฤทธิ์ ให้ความสำคัญกับธรรมชาติ ด้วยการเก็บรายละเอียดต่าง ๆ ให้ได้มากที่สุด ผลงานการเขียนภาพของท่านมีจำนวนมากในเมืองเพชรบุรี เช่น จิตรกรรมฝาผนังในพระวิหารหลวงวัดมหาธาตุ ปี 2465 ภาพจิตรกรรมฝาผนังในระเบียงคต วัดพระศรีมหาศาสดาราม จำนวน 5 ห้อง ในปี 2478 ภาพเขียนตู้พระธรรม วัดใหญ่สุวรรณาราม ภาพมหาชาติชาดก 13 แผ่น วัดแก่นเหล็ก ปี 2461 (ขณะที่ท่านยังเป็นพระ) ภาพพระเวสสันดร 14 แผ่น วัดพลับพลาชัย ภาพพระเวสสันดร 13 แผ่น วัดขุนตรา ปี 2462 ภาพเขียนภายในพระอุโบสถวัดเกาะหลัก จ. ประจวบคีรีขันธ์ ซ่อมภาพจิตรกรรมฝาผนัง วัดมหาสมณาราม งานปูนปั้น เช่น พระประธานและพระอัครสาวก วัดถ้ำแกลบ ปูนปั้นประดับหน้าบันศาลาการเปรียญทิศตะวันตก วัดเขมาภิรัติการาม (หัวสะพาน) ปี งานออกแบบพระอุโบสถและศาลาการเปรียญ วัดพลับพลาชัย งานแกะสลักธรรมาสน์ วัดพลับพลาชัย ปี 2465 วัดสนามพราหมณ์ ปี 2480 วัดหนองจอก ปี 2487 วัดกุฎีดาว ปี 2502 ออกแบบเตียงปาติโมกข์ วัดสนามพราหมณ์ มีนายหล้า ตู้มุกดา เป็นผู้แกะ
ในบั้นปลายชีวิตของท่าน ได้รับเชิญให้เป็นอาจารย์สอนที่โรงเรียนศิลปะศึกษา กรมศิลปากร (ปัจจุบันเป็นโรงเรียนช่างศิลป์) เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2495-30 มีนาคม 2511 ก่อนจะลาออกจากราชการกลับมาอยู่เพชรบุรี โดยท่านมีบ้านอยู่ในตรอกหลังวัดมหาธาตุ (ปัจจุบันรื้อแล้ว) เมื่อกลับมาอยู่เมืองเพชร ท่านก็ได้เขียนบันทึกประวัติของท่านและเขียนตำราสถาปัตยกรรมไทย ตีพิมพ์ครั้งแรก ปี 2513 ก่อนท่านจะเสียชีวิตในวันที่ 29 กันยายน 2513 สิริอายุ 76 ปี